Filter cage เป็นตะแกรงลวดที่มีลักษณะคล้ายกรงกระรอกติดตั้งไว้ในด้านในถุงกรองฝุ่น (Filter Bags) ประกอบด้วย ปากเวนจูรี่ ลวดเส้นตรง ลวดวงแหวน และฝาปั๊ม จำนวนลวดเส้นตรงจะมีจำนวนตั้งแต่ 8-16 เส้น ขึ้นอยู่กับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตะแกรง ขนาดลวดโดยทั่วไปจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 มิลลิเมตร ลวดวงแหวนจะทำให้ลวดเส้นตรงมีความแข็งแรงขึ้นและขึ้นรูปตะแกรงให้เป็นทรงกระบอก ระยะห่างของลวดวงแหวน จะอยู่ที่ 200-220 มม ใช้ลวดขนาดเดียวกันกับลวดเส้นตรง เมื่อประกอบเวนจูรี่และฝาปั๊มเข้ากับด้านบนและปลายตะแกรงแล้วจะได้เป็น Filter cage 1 ตัว หลังจากนั้นจะนำไปชุบซิงค์ ชุบ hot dip galvanized หรือ ชุบสี ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานและงบประมาณ
การชุบซิงค์ด้วยไฟฟ้า ผิวตะแกรงจะมีสีเงิน หรือ สีรุ้ง แล้วแต่กระบวนการชุบ เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็วและสวยงามเมื่อมีปริมาณมากๆ และความยาวไม่เกิน 4 เมตร เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่ผิวชุบซิงค์จะบางมาก จึงเกิดการถลอกเสียหายได้ง่ายในระหว่างการขนส่ง บางครั้งต้องซ่อมรอยถลอกด้วยสีสเปร์ย และผิวชุบซิงค์จะหลุดลอกได้ง่ายเมื่อใช้งานที่มีความชื้นและอุณหภูมิสูง
การชุบ hot dip galvanized ผิวชุบจะมีสีเทา หยาบ มีหยดน้ำกัลวาไนท์แหลมคม ไม่สวยงาม เนื่องจากกระบวนการชุบจะใช้น้ำกัลวาไนท์ที่อุณหภูมิสูง ลักษณะเป็นของเหลวเหนียวข้น ทำให้หลังการชุบแล้วตะแกรงจะมีการบิดเสียรูปและต้องมาเจียร์แต่งเศษหยดน้ำกัลวาไนท์ที่แหลมคมออก ทำให้ใช้เวลาในการผลิตเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ตะแกรงมีราคาสูงกว่าทั้ง 2 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีข้อดี คือ ตะแกรงจะทนความชื้น อุณหภูมิสูง และกรดด่างได้ดีที่สุด ทำให้สนิมเกิดช้า อายุการใช้งานนาน
การชุบสี จะใช้สีรองพื้นกันสนิมสำหรับทาเหล็ก ถ้าต้องการความสวยงามก็สามารถชุบสีทับหน้าตามเฉดสีที่ต้องการได้ เหมาะกับงานปริมาณน้อยๆ และความยาวไม่เกิน 2 เมตร การชุบสีจะมีความหนาของฟิล์มสีมากกว่าการชุบซิงค์ ทำให้ทนต่อการเกิดสนิมได้ดีกว่า ผิวสีชำรุดในระหว่างการขนส่งน้อยกว่า